top of page

คุณสมบัติของ “ผู้ยื่นใบสมัคร” ประเภทอาคารธุรกิจ/โรงแรม

     “ผู้ยื่นใบสมัคร” ประเภทอาคารธุรกิจ/โรงแรม จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

 

  1. สถานประกอบการตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย

  2. เป็นสถานประกอบการประเภทอาคารธุรกิจ/โรงแรม ภายในจังหวัดภูเก็ต

  3. เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง หรือประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่ หรือประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่างตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

  4. เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ

  5. ไม่เคยผิดสัญญา และ/หรือ ยกเลิกสัญญา และ/หรือ ถูกยกเลิกสัญญาในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุน หรือสนับสนุนผลการประหยัดพลังงานจากภาครัฐ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

  6. “ผู้ยื่นใบสมัคร” เข้าใจและยอมรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้การสนับสนุนที่ระบุไว้ในเอกสารเชิญชวนฉบับนี้ทั้งหมด

คุณสมบัติของ “ผู้ยื่นใบสมัคร” ประเภท ESCO

     “ผู้ยื่นใบสมัคร” ประเภท ESCO จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

 

  1. เป็นนิติบุคคลที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น ESCO กับสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

  2. มีหนังสือยินยอมเป็นทางการจากกลุ่มอาคารธุรกิจ/โรงแรม ลงนามโดยผู้มีอำนาจ ยินยอมให้ “ผู้ยื่นใบสมัคร” ยื่นใบสมัคร ลงนามในสัญญาและรับเงินสนับสนุนจากโครงการ โดยใช้ผลประหยัดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินมาตรการบริหารจัดการหรือมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในสถานประกอบการประเภทอาคารธุรกิจ/โรงแรม ภายในจังหวัดภูเก็ต ในการยื่นขอเงินสนับสนุน และยินยอมให้ สพจ.ภูเก็ต คณะทำงานและผู้แทน สพจ.ภูเก็ต เข้าไปตรวจสอบโครงการได้ตลอดเวลาตามความเหมาะสม

  3. สถานประกอบการประเภทอาคารธุรกิจ/โรงแรม ภายในจังหวัดภูเก็ต ที่จะนำเข้าร่วมโครงการจะต้องมีคุณสมบัติตามข้างต้น (คุณสมบัติ “ผู้ยื่นใบสมัคร” ประเภทอาคารธุรกิจ/โรงแรม) และมีเอกสารของอาคารธุรกิจ/โรงแรม ครบถ้วนเหมือน “ผู้ยื่นใบสมัคร” ประเภทอาคารธุรกิจ/โรงแรม

  4. ไม่เคยผิดสัญญา และ/หรือ ยกเลิกสัญญา และ/หรือ ถูกยกเลิกสัญญาในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุนหรือสนับสนุนผลการประหยัดพลังงานจากภาครัฐ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

  5. “ผู้ยื่นใบสมัคร” เข้าใจและยอมรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้การสนับสนุนที่ระบุไว้ในเอกสารเชิญชวนฉบับนี้ทั้งหมด

การสนับสนุนขั้นต้น

     หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาใบสมัครเพื่อให้การสนับสนุนขั้นต้น ดังนี้

 

  1. “ผู้ยื่นใบสมัคร” ยื่นใบสมัครและเอกสารประกอบครบถ้วนตามที่กำหนด คณะทำงานจะขอสงวนสิทธิในการขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และขอปฏิเสธใบสมัครที่มีข้อมูลหรือเอกสารประกอบไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้

  2. “ผู้ยื่นใบสมัคร” มีคุณสมบัติตามข้างต้น (คุณสมบัติ “ผู้ยื่นใบสมัคร” ประเภทอาคารธุรกิจ/โรงแรม หรือคุณสมบัติ “ผู้ยื่นใบสมัคร” ประเภท ESCO) สามารถยื่นขอรับการสนับสนุนมาตรการบริหารจัดการและมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพพร้อมกัน หรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

  3. จำนวนเงินที่จะให้การสนับสนุนจะคิดตามปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงของผู้ใช้พลังงาน (End User) โดยคำนวณจากปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุด (kW) ที่สามารถลดได้จริงใน 1 ปีของผู้ใช้พลังงานในการเพิ่มประสิทธิภาพปรับปรุง เปลี่ยนแปลงมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งมาตรการบริหารจัดการหรือมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพคูณกับอัตราที่ต้องการจะขอรับการสนับสนุนต่อกิโลวัตต์ (บาทต่อกิโลวัตต์)

  4. “ผู้ยื่นใบสมัคร” จะต้องมีแผนแสดงการดำเนินงานการที่ชัดเจนและต้องติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่สามารถบันทึกการใช้พลังงานได้ทุก 15 นาที หรือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลพลังงาน (Energy Information System : EIS) สำหรับมาตรการบริหารจัดการ ทั้งนี้โดยจะต้องมีเอกสารประกอบอื่นๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องได้ อาทิเช่น ประกาศนโยบายด้านการจัดการพลังงาน หนังสือแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการดำเนินมาตรการ เป็นต้น โดยการดำเนินงานมาตรการบริหารจัดการจะต้องแล้วเสร็จภายใน 195 วัน

  5. “ผู้ยื่นใบสมัคร” จะต้องมีแผนแสดงการดำเนินงานการจัดซื้อ/จัดจ้าง การตรวจวัดก่อนการปรับปรุง การติดตั้ง การตรวจสอบการติดตั้ง การตรวจวัดหลังการปรับปรุง และการจัดทำรายงานสรุปผลการประหยัด ตามที่ระบุไว้ในใบสมัคร โดยการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะต้องแล้วเสร็จภายใน 195 วัน หลังจากได้รับการยืนยันให้การสนับสนุนขั้นต้นสำหรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ (นับจากวันลงนามในสัญญา)

  6. ปริมาณพลังไฟฟ้าที่ลดลงได้จะคิดได้จากการลดจำนวนอุปกรณ์ ลดจำนวนชั่วโมงการใช้งาน ขยับเวลาการทำงานของอุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับมาตรการบริหารจัดการ หรือมีการเปลี่ยนใช้อุปกรณ์ทั้งชุดหรือทั้งเครื่องเท่านั้นสำหรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยในขั้นตอนการพิจารณาใบสมัครเพื่อให้การสนับสนุนขั้นต้น จะพิจารณาจากคุณสมบัติของการระบุโดยผู้ผลิตและจำนวนที่ระบุโดย “ผู้ยื่นใบสมัคร”

  7. “ผู้ยื่นใบสมัคร” จะต้องเสนออัตราที่ต้องการจะขอรับการสนับสนุนต่อหน่วยพลังไฟฟ้าที่ลดลงได้  (บาทต่อกิโลวัตต์) เพื่อแข่งขันกับผู้ขอรับเงินสนับสนุนรายอื่น โดยมีอัตราขอรับการสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 2,500 บาทต่อกิโลวัตต์

  8. การพิจารณาเห็นชอบและอนุมัติการสนับสนุนขั้นต้นนี้ เป็นการพิจารณาเพื่ออนุมัติให้ “ผู้ยื่นใบสมัคร” เข้าร่วมโครงการ และเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ยื่นใบสมัคร” เป็น “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” เท่านั้น ไม่ใช่การอนุมัติเงินสนับสนุนหรือกันวงเงินสนับสนุนที่จะให้แก่ “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ การอนุมัติให้เงินสนับสนุนและจำนวนเงินที่จะสนับสนุนจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามหัวข้อ "การอนุมัติเงินสนับสนุน" โดยการอนุมัติการสนับสนุนขั้นต้นจะพิจารณาเป็นลำดับดังนี้ 

    • ความครบถ้วนของเอกสารขอสมัครเข้าร่วมโครงการ

      • ผู้ขอรับเงินสนับสนุนที่มีใบสมัครและเอกสารประกอบการสมัครครบถ้วนตามข้อ 1 - 8 จะได้รับการพิจารณาก่อน​

    • อัตราที่ต้องการจะขอรับการสนับสนุน (บาทต่อกิโลวัตต์)

      • ผู้ขอรับเงินสนับสนุนที่มีความพร้อมและมาตรการที่นำเสนอมีศักยภาพสูงจะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรก โดยมีอัตราขอรับการสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 2,500 บาทต่อกิโลวัตต์ ลำดับก่อนหลังการสมัครเข้าร่วมโครงการ ในกรณีที่เสนออัตราขอรับการสนับสนุนเท่ากัน จะพิจารณาลำดับก่อนหลังการสมัครเข้าร่วมโครงการ​

  9. “ผู้ยื่นใบสมัคร” จะต้องแจ้งยืนยันการรับการสนับสนุนหลังจากได้รับใบแจ้งยืนยันผลการอนุมัติการสนับสนุนขั้นต้นภายในระยะเวลา 7 วันและจะต้องลงนามในสัญญาภายในวันที่ 17 ก.ค. 2560

การตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดพลังงาน

     “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” จะต้องดำเนินดังต่อไปนี้

  1. “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” จะต้องให้ความร่วมมือกับคณะทำงานในการดำเนินการตรวจวัดปริมาณการใช้พลังไฟฟ้าก่อนและหลังการปรับปรุง และคำนวณค่าพลังไฟฟ้าที่สามารถลดลงได้

  2. “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” สำหรับมาตรการบริหารจัดการจะติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่สามารถบันทึกการใช้พลังงานได้ทุก 15 นาที หรือระบบบริหารจัดการข้อมูลพลังงาน (Energy Information System: EIS) พร้อมระบุพื้นที่และจุดการดำเนินมาตรการ และรายละเอียดการคำนวณปริมาณการใช้พลังไฟฟ้าก่อนปรับปรุง หลังการปรับปรุง ผลประหยัด และถ่ายรูป ฯลฯ ทั้งนี้โดยจะต้องมีเอกสารประกอบอื่นๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องได้ อาทิเช่น ประกาศนโยบายด้านการจัดการพลังงานหนังสือแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการดำเนินมาตรการ เป็นต้น

  3. “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” สำหรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพจะต้องแสดงข้อมูลการตรวจวัด จุดตรวจวัด พื้นที่ที่มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ รายละเอียดการคำนวณปริมาณการใช้พลังไฟฟ้าก่อนปรับปรุง หลังการปรับปรุงผลประหยัด และถ่ายรูป ฯลฯ ไว้ในรายงานสรุปผลการประหยัดพลังงานตามรูปแบบรายงานที่ได้จัดเตรียมไว้นอกจากนี้ “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” จะต้องบันทึกข้อมูลตรวจวัดลงในตารางที่กำหนดไว้และเขียนลงในแผ่น CD แนบมาพร้อมกับรายงานสรุปผลการประหยัด

  4. “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” จะต้องจัดทำแบบแปลน (Floor Plan) แสดงตำแหน่งและจำนวนอุปกรณ์ที่เปลี่ยนในแต่ละพื้นที่ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่ได้มีการเปลี่ยนจริง และแนบมาพร้อมกับรายงานสรุปผลการประหยัดพลังงาน

  5. สพจ.ภูเก็ต และ/หรือผู้แทน สพจ.ภูเก็ต จะเข้าสุ่มตรวจวัดการใช้พลังไฟฟ้าของอุปกรณ์ก่อนและหลังการปรับปรุง เพื่อนำมาผลการตรวจวัดมาเทียบกับการประเมินผลการประหยัดพลังงานของ “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน”

  6. หลังจากได้รับรายงานสรุปผลการประหยัดพลังงานและเอกสารประกอบครบถ้วนแล้วคณะทำงานจะทำการตรวจสอบความครบถ้วนและความถูกต้องของเอกสาร และทำการตรวจสอบและวิเคราะห์ผลประหยัดตามข้อ 5 เพื่อจัดทำเป็นสรุปรายงาน “ปริมาณพลังไฟฟ้าที่ลดลงได้” เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาต่อไป

  7. การตรวจสอบและวิเคราะห์ผลประหยัด จะเป็นไปตามรูปแบบที่สามารถวัดได้ตามหลักวิศวกรรม

  8. เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว สพจ.ภูเก็ตและหรือผู้แทน สพจ.ภูเก็ต จะจัดทำใบรับรองผลประหยัดที่เกิดขึ้นพร้อมข้อคิดเห็นและเอกสารประกอบอื่นๆ เพื่อส่งให้คณะทำงานพิจารณาอนุมัติการให้เงินสนับสนุนต่อไป

การอนุมัติเงินสนับสนุน

     หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติจำนวนเงินสนับสนุน มีดังต่อไปนี้

  1. วงเงินสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อนิติบุคคล และขอสงวนสิทธิในการเพิ่มหรือลดวงเงินสนับสนุนตามที่ สพจ.ภูเก็ต เห็นสมควร

  2. ผู้ขอรับเงินสนับสนุนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องจัดทำสัญญาขอรับการสนับสนุนเพื่อเข้าร่วมโครงการ จำนวนเงินหรือผลประหยัดที่ระบุไว้ในใบสมัครเป็นกรอบวงเงินที่คาดว่าจะได้หรือเป็นเพียงประมาณการณ์พลังไฟฟ้าที่ลดลงได้เท่านั้น ไม่ใช่จำนวนเงินที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเมื่อสิ้นสุดโครงการ

  3. ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องดำเนินมาตรการบริหารจัดการหรือมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้งาน และตามเงื่อนไขที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ ทั้งนี้จะต้องไม่ดัดแปลง รื้อ ถอน เคลื่อนย้าย วัสดุ อุปกรณ์ ให้มีสภาพการใช้งานผิดไปจากวัตถุประสงค์ในการให้การสนับสนุนนี้ และต้องติดตั้งใช้งานเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี

    • ในกรณีที่จำนวนอุปกรณ์ที่ติดตั้งจริง น้อยกว่า 80% ของจำนวนอุปกรณ์ที่ระบุไว้ในใบสมัคร จะถือว่า “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” ผิดสัญญา สพจ.ภูเก็ต จะดำเนินการยกเลิกสัญญา และขอสงวนสิทธิ์ไม่จ่ายเงินสนับสนุนใดๆทั้งสิ้น​

    • ในกรณีที่จำนวนอุปกรณ์ที่ติดตั้งจริง มากกว่าจำนวนอุปกรณ์ที่ได้รับอนุมัติใน 3.3 สพจ.ภูเก็ต จะคิดผลประหยัดให้ตามจำนวนอุปกรณ์ที่ระบุไว้ในใบสมัคร

  4. จำนวนเงินสนับสนุนที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ จะคำนวณจากพลังไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง คูณกับอัตราขอรับการสนับสนุนต่อหน่วยที่ได้รับการอนุมัติในขั้นตอนการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการหาพลังไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงจะดำเนินการหลังจากดำเนินมาตรการ หรือติดตั้งอุปกรณ์แล้วเสร็จ ทั้งนี้และทั้งนั้น จะไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาขอรับการสนับสนุนตามข้อ 2

  5. การหาพลังไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงจะดำเนินการตามวิธีการตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดตามหลักวิศวกรรม

  6. ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินงาน ผลการตรวจวัดและผลการประหยัด ตามรูปแบบที่ สพจ.ภูเก็ต กำหนดเพื่อใช้ในการขออนุมัติเงินสนับสนุน

  7. “ผู้เข้าร่วมโครงการ” เป็นผู้กำหนดคุณสมบัติอุปกรณ์ คัดเลือกอุปกรณ์และตราสินค้าดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และตรวจสอบการติดตั้งและการใช้งานอุปกรณ์ โดยมีคุณสมบัติตามหลักวิศวกรรมของอุปกรณ์นั้นๆ

  8. “ผู้เข้าร่วมโครงการ” ต้องส่งรายงานสรุปผลการประหยัดและเอกสารประกอบครบถ้วนตามที่กำหนด คณะทำงานขอสงวนสิทธิในการขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการพิจารณา และขอปฏิเสธรายงานที่มีข้อมูลหรือเอกสารประกอบไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ คณะทำงานจะพิจารณารายงานก็ต่อเมื่อมีเอกสารครบถ้วนแล้วเท่านั้น

  9. “ผู้เข้าร่วมโครงการ” ได้มีการติดต่อประสานงานกับ สพจ.ภูเก็ต หรือผู้แทน สพจ.ภูเก็ต เพื่อแจ้งความก้าวหน้าของการเปลี่ยนใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานโดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 3 วัน เมื่อมีการดำเนินการดังต่อไปนี้

    • จัดซื้อ/จัดจ้างเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานแล้วเสร็จ​

    • ติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานครบ 80% ของจำนวนที่ระบุไว้ในใบสมัคร

      • ทั้งนี้ สพจ.ภูเก็ต คณะทำงานและ/หรือผู้แทน สพจ.ภูเก็ต อาจจะเข้าไปสังเกตการณ์การดำเนินงานข้างต้นของกลุ่มอาคารธุรกิจ/โรงแรม ตามความเหมาะสม และเข้าสุ่มตรวจวัดตามหัวข้อ "การตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดพลังงาน"

  10. รายงานสรุปผลการประหยัดพลังงานได้รับการรับรองผลประหยัดจาก สพจ.ภูเก็ต และ/หรือผู้แทน สพจ.ภูเก็ต ตามวิธีการที่ระบุไว้ในหัวข้อ "การตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดพลังงาน"
  11. เมื่อคณะทำงานพิจารณาแล้ว สพจ.ภูเก็ตจะแจ้งผลการพิจารณาให้ “ผู้เข้าร่วมโครงการ” เพื่อจัดเตรียมเอกสารสำหรับเบิกเงินสนับสนุนกลับมายัง สพจ.ภูเก็ต อีกครั้งหนึ่งพร้อมใบแจ้งผลการพิจารณาและ เอกสารประกอบอื่นๆสำหรับการเบิกเงินตามระเบียบปฏิบัติของ สพจ.ภูเก็ต ภายใน 7 วัน

ข้อสงวนสิทธิ์

          เนื่องจากจำนวนเงินสนับสนุนที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมีจำกัด สพจ.ภูเก็ต ขอสงวนสิทธิการดำเนินงานดังต่อไปนี้

  1. สพจ.ภูเก็ต สงวนสิทธิที่จะแก้ไข เพิ่มเติม เงื่อนไขหรือข้อกำหนดในเอกสารเชิญชวนหรือแบบสัญญาขอรับการสนับสนุนตามความเห็นของ สพจ.ภูเก็ต (ถ้ามี) ทั้งนี้และทั้งนั้น การแก้ไข เพิ่มเติม เงื่อนไขหรือข้อกำหนดดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลังกับ “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” ที่ลงนามในสัญญาแล้ว

  2. สพจ.ภูเก็ต สงวนสิทธิในการยกเลิกสัญญา ในกรณีดังต่อไปนี้

    • “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด หรือไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในการขอรับการสนับสนุน หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาขอรับการสนับสนุน

    • “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” ไม่สามารถดำเนินโครงการ ให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาในแผนดำเนินการที่ สพจ.ภูเก็ต ให้ความเห็นชอบ

    • ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” ได้ยกเลิกหลังจากได้รับอนุมัติให้การสนับสนุน หรือยกเลิกระหว่างดำเนินการโดยสิทธิในการขอรับการสนับสนุนในโครงการนี้ไม่สามารถโอนให้แก่ผู้อื่นได้

    • “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ภายใน 60 วัน นับจากวันลงนามในสัญญาขอรับการสนับสนุน หรือไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 195 วัน นับจากวันลงนามในสัญญาขอรับการสนับสนุน

  3. ผู้ได้รับเงินสนับสนุนต้องอำนวยความสะดวกให้แก่สำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต คณะทำงานและผู้แทนสพจ.ภูเก็ต เข้าไปตรวจสอบโครงการได้ตลอดเวลาตามความเหมาะสม

  4. การอุทธรณ์ผลการพิจารณาโดย “ผู้ยื่นใบสมัคร” หรือ “ผู้ขอรับเงินสนับสนุน” ที่ไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของคณะทำงาน สามารถดำเนินการต่อ “พลังงานจังหวัดภูเก็ต เลขที่ 38/365 ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83000” ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากสำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต  การวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ถือเป็นที่สุด

Anchor 1
Anchor 3
Anchor 4
Anchor 5
Anchor 6

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสนับสนุน

     ตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่จัดตั้งขึ้น คณะทำงานได้จัดทำหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการให้การสนับสนุนโดยแบ่งออกเป็น

  1. หลักเกณฑ์และเงื่อนไข: คุณสมบัติของ “ผู้ยื่นใบสมัคร” ประเภทอาคารธุรกิจ/โรงแรม

  2. หลักเกณฑ์และเงื่อนไข: คุณสมบัติของ “ผู้ยื่นใบสมัคร” ประเภท ESCO

  3. หลักเกณฑ์และเงื่อนไข: การสนับสนุนขั้นต้น

  4. หลักเกณฑ์และเงื่อนไข: การตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดพลังงาน

  5. หลักเกณฑ์และเงื่อนไข: การให้เงินสนับสนุน

  6. ข้อสงวนสิทธิ

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จังหวัดภูเก็ต

โดยนำร่องการสนับสนุนตามผลประหยัดพลังงาน โดยวิธีประกวดราคา (DSM Bidding)
 

ติดต่อสอบถาม สำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต
38/365 ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83000

 

ผู้ประสานงานโครงการ นางสาวปวีณา ฮั่วจั่น

เบอร์โทร 080-4293331, 094-5604883  E-mail: dsmphuket60@gmail.com 

โทรศัพท์ 02-941-4080-1 โทรสาร 02-941-4082

bottom of page